วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ดอกกระดังงาป่า


กระดังงาป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์  Polyalthia lateriflora (Blume) King
วงศ์ : Annonaceae
ชื่อสามัญ :  -
ชื่ออื่น : กระดังงาป่า (เชียงใหม่) กล้วยหมูสัง กล้วยอีเห็น (ยะลา) เนียนเขา (ชุมพร) กล้วย (นราธิวาส) ปีแซ (มลายู-นราธิวาส)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 10-20 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางที่โคนลำต้น 20-35 เซนติเมตร แตกกิ่งระดับสูงขนานกับพื้นดิน เปลือกเรียบ สีเทา หนา และมีกลิ่นฉุน เนื้อไม้เหนียว ใบ รูปขอบขนาน กว้าง 6-12 เซนติเมตร ยาว 18-35 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม ใบค่อนข้างหนา ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบมี 16-20 คู่ ก้านใบยาว 5-8 มิลลิเมตร ดอก ออกเป็นช่อแบบกระจุกตามกิ่งแก่ ดอกสีเหลือง ก้านดอกยาว 4-6 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม กว้าง 2-3 มิลลิเมตร ยาว 3-4 มิลลิเมตร กลีบดอกค่อนข้างหนา รูปแถบ กลีบชั้นในกว้าง 0.8-1.2 เซนติเมตร ยาว 5-7 เซนติเมตร กลีบดอกชั้นนอกแคบและสั้นกว่าเล็กน้อย เมื่อบานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-6 เซนติเมตร ผล ผลกลุ่ม ก้านช่อผลยาว 4-6 เซนติเมตร มี 20-30 ผล ก้านผลย่อยยาว 1.5-2 เซนติเมตร แต่ละผลรูปรี กว้าง 2 เซนติเมตร ผลแก่สีแดง มี 1 เมล็ด
ช่วงการออกดอกและติดผล : ดอกบานเดือนมีนาคม ถึงตุลาคม ผลแก่หลังจากดอกบาน 6-7 เดือน
นิเวศวิทยา : ในป่าดิบชื้นภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และป่าพรุทางภาคใต้ ที่ระดับความสูง 50-600 เมตร
การขยายพันธุ์และการปลูกเลี้ยง : โดยการเพาะเมล็ดและปลูกเป็นไม้ปลูกป่า
การใช้ประโยชน์ : เนื้อไม้นำมาใช้ในงานก่อสร้างและเป็นเชื้อเพลิง
ที่มาของข้อมูล : หนังสือพรรณไม้วงศ์กระดังงา ของ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น, สำนักพิมพ์บ้านและสวน , พ.ศ.2544
หมายเหตุ:  มีพืชในวงศ์ Annonaceae อีกต้นหนึ่งคือ การะเวก (Artabotrys siamensis  Miq.) ซึ่งทางราชบุรีเรียก กระดังงาป่า เช่นเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น