วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

ดอกโฮย่า

ดอกโฮย่า

ชื่อสามัญ  Wax plant, Porcelain flower
ชื่อวิทยาศาสตร์     Hoya camosa (L.f.) R.Br.                        
วงศ์  Asclepiadceae
ชื่อพื้นเมือง:     นมตำเรีย  นมมาเลีย(ภาคกลาง)  เนื้อมะตอม(ภาคเหนือ)
มีถิ่นกำเนิด     ทางตอนไต้ของประเทศจีนและฮ่องกง
 
 ลักษณะทั่วไป
  ปัจจุบันพบโฮย่ากว่า 200 ชนิดทั่วโลก (ไม่รวมต้นที่มีการกลายพันธุ์และลูกผสมซึ่งเกิดจากการปลูกเลี้ยง) กระจายพันธุ์ครอบคลุมบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนบนของทวีปออสเตรเลีย เจริญอยู่ในสภาพธรรมชาติต่าง ๆ กัน พบมากที่สุดในแนวเส้นศูนย์สูตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกาะอยู่ในทะเลจีนใต้ ที่มีสภาพเป็นป่าฝนเขตร้อนเหมือนป่าดงดิบ มีแสงส่องถึงนอกจากนี้ยังพบในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งในแถบอินโดจีน รวมทั้งบนหุบเขาสูงซึ่งเป็นป่าดิบเขาในเขตกึ่งร้อน
โฮย่ามีการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นไม้เลื้อยอิงอาศัยเกาะกับต้นไม้ใหญ่ ได้อาหารและน้ำจากลมและฝนพัดมา (epiphytic plant) ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาว (ยกเว้นเพียงไม่กี่ชนิด เช่น Hoya carnosa มีน้ำยางใส) มีใบหนาคล้ายพืชอวบน้ำจึงสามารถทนแล้งได้ดี มีรากที่ทำหน้าที่คล้ายรากอากาศ
ใบ     ออกเป็นคู่ตรงข้าม ยกเว้น Hoya imbricata ที่มีใบแบบซ้อนเหลื่อมกัน (imbricate) รูปร่างและขนาดของใบแตกต่างกันในแต่ละชนิด เช่น รูปกลม รูปรี รูปหัวใจ บารงชนิดมีผิวใบหยาบเหมือนแผ่นหนัง หรือมีขนคล้ายกำมะหยี่ปกคลุม
ดอก   ดอกออกเป็นช่อแบบซี่ร่ม เกิดที่ข้อใบและมักห้อยลง ก้านช่อดอกมีอายุนานหลายปีและเกิดดอกซ้ำได้หลายครั้ง ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยงและกรีบดอกอย่างละ 5 อัน ลักษณะเด่นของดอกคือมีกลีบดอกเป็นมันคล้ายทำด้วยขี้ผึ้ง สีสันสดใส จึงมีชื่อเรียกว่า Wax Plant หรือบางชนิดกลีบดอกมีขนฟูคล้ายกำมะหยี่ปกคลุม นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่คล้ายมงกุฎ 5 แฉก (corona) ครอบอยู่ตรงกลางเหนือกลีบดอกเกสรเพศผู้ 5 อัน มีลักษณะคล้ายก้อนขี้ผึ้ง (pollinium) อยู่ระหว่างแฉกของมงกุฎ ส่วนเกสรเพศเมีย 1 อัน อยู่กึ่งกลางมงกุฎ ดอกมักจะมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะเวลากลางคืน ออกดอกในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ส่วนชนิดที่มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาวจะออกดอกในฤดูหนาวผลเป็นฝักรูปร่างยาว เมื่อแก่จะแห้งและแตกออกเพียงด้านเดียว ภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ จำนวนมาก เมล็ดมีขนพิเศษ (coma) ช่วยในการกระจายพันธุ์ไปตามลม เมล็ดที่ตกในที่เหมาะสมก็จะเจริญเติบโตต่อไป
ผล    ผลแห้ง  เป็นฝักยาว   เมื่อแก่แตกตามตะเข็บด้านเดียว   เมล็ดจำนวนมาก   มีขนยาวปกคลุม

 การปลูกและการดูแลรักษา

   ลำต้นและใบโฮย่ามักจะหนาอวบคล้ายพืชอวบน้ำ และมีรากทำหน้าที่คล้ายรากอากาศ ดังนั้นวัสดุปลูกที่เหมาะสมควรระบายน้ำและอากาศได้ดี มีธาตุอาหารเพียงพอ เก็บความชื้นและไม่ผุพังหรือยุบตัวเร็วเกินไป วัสดุที่ใช้ได้ผลดี คือ รากเฟินชายผ้าสีดาสับ กาบมะพร้าวสับ หรือใช้ดินผสมที่มีจำหน่ายทั่วไปผสมกับวัสดุอื่น ๆ ที่ช่วยถ่ายเทอากาศและน้ำ เช่น ถ่านทุบ แกลบสด เปลือกถั่ว ข้อเสียของดินผสมคือยุบตัวเร็วและอุ้มน้ำมากเกินไป ทำให้รากเน่าได้ง่าย
   ภาชนะปลูกควรเลือกภาชนะก้นตื้นเพราะรากจะเกาะและกินอาหารตามผิวมักจะปลูกแบบไม้แขวนและไม้เลื้อยขึ้นแล้วดัดพันให้เป็นพุ่มเมื่อโฮย่าแตกกิ่งมากขึ้น หรือปลูกเป็นไม้เถาเลื้อยตามซุ้มหรือไต่กำแพงรั้วบ้านก็ได้แต่ควรให้ได้รับแสงแดดอย่างน้อยในครึ่งวันเช้าการให้น้ำควรให้เมื่อวัสดุปลูกเกือบแห้ง และให้เพียงวันละครั้ง ไม่ควรให้เครื่องปลูกแฉะเกินไป
  ปุ๋ยที่ให้ควรเป็นปุ๋ยกล้วยไม้อาจเป็นชนิดละลายน้ำหรือชนิดเม็ดที่ปลดปล่อยอาหารทีละน้อยเมื่อต้นสมบูรณ์ดีแล้วเลือกให้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจน(N) น้อยกว่าธาตุฟอสฟอรัส (P) เพื่อเร่งการออกดอก สำหรับการให้ปุ๋ยละลายน้ำ ควรใช้ในอัตราความเข้มข้นต่ำ ๆ จึงจะได้ผลดี
 การขยายพันธ
นิยมใช้การตัดชำ โดยเลือกกิ่งที่แข็งแรงไม่แก่หรืออ่อนเกินไป สังเกตได้ที่ปลายกิ่งมีใบคู่สุดท้ายเจริญเต็มที่แล้ว และมีข้อใบติดอยู่อย่างน้อย 2 - 3 ข้อ ไม่ควรใช้กิ่งที่กำลังสร้างใบหรือเพิ่งแตกตาใหม่ ใช้มีดสะอาดและคมตัดระหว่างข้อใบ ให้โคนที่ปักชำยาวพอสมควร การใช้กรรไกรหรือมือเด็ดจะทำให้เกิดแผลช้ำ เมื่อนำไปปักชำอาจเน่าได้ นำกิ่งที่ตัดมาผึ่งลมให้แผลแห้งประมาณ 1 - 2 วัน แล้วปักชำในวัสดุชำ ได้แก่ ทรายหยาบล้างสะอาดผสมกับขุยมะพร้าวอย่างละส่วน รดน้ำที่ผสมสารกำจัดเชื้อราให้ชุ่ม นำไปไว้ในที่มีแสงรำไร ควรให้วัสดุชำชุ่มชื้นเสมอ แต่ไม่แฉะ ประมาณ 1 สัปดาห์ต่อมากิ่งปักชำจะแตกราก และเมื่อตาใหม่เริ่มแตกที่โคนข้อใบแล้ว จึงย้ายปลูกลงในกระถางต่อไป
   โฮย่าบางชนิด เช่น ชนิดที่มีใบด่าง หรือมาจากเขตหนาว เมื่อนำมาปักชำมักออกรากยาก และอ่อนแอต่อสภาพอากาศในไทย จึงต้องขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่ง (grafting) จึงให้ผลดี โดยใช้โฮย่าชนิดที่แข็งแรงและทนทานเป็นต้นตอ
   ส่วนการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดนั้น ไม่นิยมปฏิบัติ เพราะโอย่าติดเมล็ดยากและต้องใช้เวลาหลายปีต้นจึงจะโตให้ดอกได้ ยกเว้นในกรณีที่ต้องการผลิตพันธุ์ลุกผสมใหม่ๆ ซึ่งค่อนข้ายุ่งยาก จึงไม่ขอกล่าวถึง
 

 โรค แมลงศัตรู และการป้องกันกำจัด

โรครากเน่า เกิดจากการรดน้ำมากเกินไปหรือใช้วัสดุปลูกไม่เหมาะสม ทำให้รากเน่าและลุกลามไปทั้งต้นจนตายในที่สุด เมื่อเห็นยอดเหี่ยวหรือใบใกล้โคนเหลืองหลุดร่วงไป ให้ตัดส่วนยอดเหนือกิ่งเน่ามาปักชำใหม่
แมลงศัตรู ได้แก่ เพลี้ยอ่อน และ เพลี้ยแป้ง ซึ่งมีมดเป็นพาหะ จะเกาะที่ยอดอ่อนหรือช่อดอกแล้วดูดกินน้ำเลี้ยงจนยอดหรือช่อดอกเหี่ยวแห้ง นอกจากนี้ยังพบ หนอนผีเสื้อ บางชนิด ที่คอยกัดกินยอดอ่อนบ้าง แต่พบไม่มากนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น